เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
สวัสดีค่ะ...ชื่อกวางนะค่ะ

วันเสาร์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ถ้ำผานางคอย ภายใต้ความงาม แฝงด้วยตำนานรักแสนเศร้าที่มิอาจลืม


    
ผานางคอย เป็นส่วนหนึ่งของภูเขาหินปูน ที่ตั้งตระหง่านกลางป่า ปก คลุมด้วยแมกไม้น้อยใหญ่ อดีตเมื่อผืนป่ายังอุดมสมบูรณ์ ละแวกนี้เต็มไปด้วยสัตว์มากมายหลายชนิด โดยเฉพาะกวางป่า เป็นที่มาของชื่ออำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่

แต่เมื่อพื้นที่ถูกแปรเป็นพื้นที่การเกษตร สัตว์ก็ค่อยๆ หายไป เหลือเพียงภูเขาหินปูน ถ้ำและหินงอกหินย้อยสวยวิจิตรอลังการ เป็นประติมากรรมที่ธรรมชาติสรรค์สร้างไว้ ถ้ำแห่งนี้มิถูกร้อยเรียงเรื่องราวให้เข้ากับตำนานนิทานพื้นบ้าน จากหยดหินก่อให้เกิดรูปทรงผู้หญิงกำลังโอบอุ้มลูกน้อย รอคอยการกลับมาของชายอันเป็นที่รักของเธอ โดดเด่นอยู่ที่ลานกลางถ้ำ เป็นที่มาของชื่อ ถ้ำผานางคอย ตำนานรักยิ่งใหญ่ของเจ้าแม่อรัญญาณี หญิงสาวสูงศักดิ์ กับชายอันเป็นที่รัก

เมื่อ 800 ปีที่แล้วสมัยอาณาจักรแสนหวี องค์หญิงอรัญญาณีผู้สูงศักดิ์ รักกับคะนองเดช หัวหน้าฝีพาย จนอรัญญาณีตั้งครรภ์ แล้วหนีมาด้วยกัน จนถึงกลางป่าถูกทหารตามล่ามาอย่างกระชั้นชิด ทหารยิงคะนองเดชแต่พลาดถูกกลางอุระนางอรัญญาณี ทั้งสองหลบเข้ามาอยู่ในถ้ำ นางอรัญญาณีได้ให้ชายที่รักหนีไป และพูดว่า "หญิงจะรออยู่ที่นี่ ชั่วกัลปาวสาน" แรงอธิษฐานดังกล่าวทำให้นางกลายเป็นหิน มือโอบพระโอรสไว้บนตัก เป็นที่มาของชื่อถ้ำผานางคอย

ความสูงจากด้านล่างจนถึงปากถ้ำ 50 เมตรถือว่าไม่ไกลมากนัก ภายในถ้ำ ระยะทางจากปากถ้ำจนถึงทางออกอีกด้านยาวถึง 150 เมตร ทางเดินทั้งกว้างและแคบสลับกันไป เต็มไปด้วยหินงอกหินย้อยระยิบระยับ แบ่งออกเป็น 13 จุด ตั้งชื่อเรียบร้อยกันอย่างไพเราะ คือ คูหาสวรรค์วิเศษ เทพอารักษ์นครา นาคาสถิต งามพิศอนงค์สนาน หิมพานต์พิจิตร เนรมิตม่านแก้ว มรกตเพริดแพร้ววิจิตรา บูชาพระมุนี นทีชลเนตร ธารเทพอธิษฐาน คชสารพิทักษ์ ลานรักพระนาง และหินนางคอย

เมื่อเดินพ้นโค้งลานรักพระนาง มองไปทางขวาเล็กน้อย สิ่งที่ปรากฏแก่สายตาตั้งตระหง่านโดดเด่น นั่นคือ หินนางคอย หัวใจสำคัญของถ้ำ หินปูนที่หยดย้อยทำให้เกิดรูปทรงเหมือนหญิงสาว กำลังก้มหน้าโอบอุ้มลูกน้อยนั่งอยู่บนแท่นหิน ผู้มาเยือนต้องยืนอยู่ห่างจากหินนางคอยประมาณ 10 เมตร จะเป็นจุดที่เห็นได้ชัดว่ามีรูปร่างเหมือนผู้หญิงอุ้มลูก

ถัดจากหินนางคอยไปเล็กน้อย จะเป็นปากถ้ำอีกด้านหนึ่งที่สูงขึ้นไป ปากถ้ำด้านหลังมีความกว้างกว่า 15 เมตร เป็นแหล่งแสงสว่างให้ภายในถ้ำเป็นอย่างดี ก่อนถึงปากถ้ำด้านหลัง ชาวบ้านได้นำพระพุทธรูปตั้งไว้เพื่อให้ผู้มาเยือนได้กราบไว้บูชา ขอพรก่อนเดินทางกลับ ซึ่งต้องเดินทางย้อนกลับไปทางเก่า จะทำให้เกิดความรู้สึกสวยงามตื่นตาตื่นใจในอีกมุมหนึ่งอีกด้วย

ถ้ำผานางคอยแห่งนี้ ตั้งอยู่ที่บ้านผาหมู อำเภอร้องกวาง ห่างจากตัวอำเภอเมืองแพร่ 34 กิโลเมตร ตามเส้นทางสายแพร่-ร้องกวาง (ทาง หลวงหมายเลข 101) ถึงกิโลเมตรที่ 58-59 จะถึงถนนทางเข้าถ้ำผานางคอยด้านซ้ายมือ เข้าไปเพียง 800 เมตรก็ถึงตัวถ้ำ ผู้ที่อยากมาชม สามารถเดินทางมาได้ทุกวัน การเข้าชมไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ


ปัจจุบันถ้ำผานางคอยได้รับการปรับปรุงให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ มีการปรับภูมิทัศน์ พัฒนาเส้นทาง ติดไฟ และป้ายบอกถึงความเป็นมาประวัติศาสตร์ และตำนาน "ผานางคอย" ไว้รับนักท่องเที่ยวอย่างเต็มรูปแบบแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น